วัดศรีชุม อ.เมือง จ.ลำปาง (ดูภาพด้านล่าง)
ศรีชุม ในภาษาเมืองเหนือ หมายถึงต้นโพธิ์ วัดศรีชุมเป็นวัดที่มีศิลปะ สถาปัตยกรรมแบบพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยคหบดีชาวพม่า แต่เนื่องจากเคยเกิดเหตุเพลิงไหม้จึงได้มีการบูรณะรักษาส่วนที่ยังคงอยู่ และก่อสร้างต่อเติมภายหลังจนมีลักษณะดังเช่นปัจจุบัน
สิ่งที่น่าสนใจในวัดศรีชุมที่ดูจะสะดุดตามากที่สุดคือ
วิหาร เป็นอาคารสองชั้นครึ่งตึก ครึ่งไม้ ตัวหลังคาเป็นเครื่องตกแต่งคล้ายปราสาทด้วยศิลปะ และสถาปัตยกรรมตามแบบพม่า ระแนงไม้ฉลุเป็นลวดลายมีความอ่อนช้อยดูงดงาม ภายในผนังของวิหารจารึกรูปภาพสลักสีทอง เรื่องราวพุทธประวัติ อีกด้านของพระวิหารเป็นภาพสมัยอดีต และแผนที่จำลองของวัด พื้นวิหารมีการเล่นระดับบริเวณที่สูงที่สุดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารถนับถือ และยังมีห้อง(คล้ายพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก)เก็บบันทึกประวัติศาสตร์อยู่ทางด้านในของวิหารด้วย
โบสถ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน อายุยาวนานกว่าร้อยปีเช่นกัน แต่ขนาดโบสถ์ไม่ใหญ่มากนัก ตัวโบสถ์หลังคาทำเป็นหลังคาซ้อนกันหลายชั้นตกแต่งด้วยลวดลายตามศิลปะแบบพม่า ด้านหน้าโบสถ์มีบันไดนาคนำเข้าสู่ตัวโบสถ์ ประตูไม้เป็นศิลปะที่น่าสนใจประดับทองและกระจกอย่างสวยงาม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ
สิ่งสุดท้ายที่ดูน่าสนใจคือ องค์พระเจดีย์สีทองอร่ามด้านหลังโบสถ์ มีพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากพม่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนบรรจุอยู่ภายในองค์พระเจดีย์ที่ถูกประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงาม
การเดินทาง (ขอบคุณข้อมูลการเดินทางจาก ททท.)
วัดศรีชุมตั้งอยู่ที่ถนนศรีชุม-แม่วะ ตำบลศรีชุม จากถนนพหลโยธินเมื่อถึงโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยแล้ว เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเข้าถนนศรีชุมไปประมาณ 100 เมตร จะพบทางเข้าวัดอยู่ทางด้านขวามือ
|
หลากหลายมุมมองกับความงดงามของพระวิหารในวัดศรีชุม |
|
พระพุทธรูป โบสถ์ และพระธาตุเจดีย์ภายในวัดศรีชุม |
|
ลวดลายทองจารึกพุทธประวัติภายในพระวิหาร,พระประธานภายในพระวิหาร(รูปที่ 3จากซ้าย) และศิลปะประดับทองแบบพม่าบนประตูไม้ของโบสถ์ |
|
พระพุทธรูปโบราณ ระแนงไม้สลักลวดลายอ่อนช้อยงดงาม,พระประธานภายในโบสถ์ และวัตถุุโบราณในพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กบนพระวิหาร
|
|